วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559

การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์แบบปล่อย ลดต้นทุน ผสมผสานกับแนวทางการเลี้ยงไก่ไข่แบบเศรษฐกิจพอเพียง

การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์แบบปล่อย ลดต้นทุน ผสมผสานกับแนวทางการเลี้ยงไก่ไข่แบบเศรษฐกิจพอเพียง


ในส่วนนี้ขอแนะนำการเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์ เป็นการเลี้ยงแนวเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยลดต้นทุนและให้คุณภาพของไข่ไก่สูง ไก่ไข่มีอายุที่ยืนยาวกว่าการเลี้ยงในกรงตับ อีกทั้งราคาของไข่ไก่อินทรีย์มีราคาที่น่าสนใจมากกว่า ปัจจุบันไข่ไก่อินทรีย์ ราคา 4 บาท/ฟอง ในขณะที่ไข่ไก่ปรกติ ราคาฟองล่ะ 3 บาทเท่านั้น การเลี้ยงไก่ไข่ประหยัดแบบอินทรีย์ ผสมผสานกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ลักษณะคล้ายกับเลี้ยงไก่ไข่แบบธรรมชาติ ไม่ได้ขังในกรง จะปล่อยให้ออกหากินตามสวน หรือพื้นที่ที่จัดเตรียมให้ การเลี้ยงแบบนี้ จะช่วยให้ไก่ไข่อารมณ์ดี ไม่เครียด ใช้ชีวิตเหมือนธรรมชาติ

การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ จะช่วยให้ประหยัดต้นทุน ทั้งเรื่องโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง รวมทั้งอาหารสำหรับไก่ไข่สาว เป็นแนวทางของการ เลี้ยงไก่ไข่ให้ได้กําไร สูงสุด บวกกับแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถมีรายได้จากการปลูกพืชผักและสวนได้อีกด้วย

เล้าไก่ไข่แบบประหยัด

เลี้ยงไก่ไข่ให้อารมณ์ดี ไม่เครียด
เครดิตรูปภาพ: NatalieStultz.com

เล้าไก่หรือคอกไก่ไข่อินทรีย์นี้จะไม่ต้องลงทุนสูง ต่างกับการเลี้ยงแบบโรงเรือน จะมีแค่เพียงคอนและบ้านหรือเล้ากันแดด กันฝนสำหรับไก่ให้นอนพักผ่อนในตอนกลางคืน รอบๆสถานที่เลี้ยงจะมีเพียงรั้ว สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมาทำร้ายไก่ไข่ อย่างที่เกริ่นในตอนแรก หากเราเลี้ยงไก่ไข่ในสวนหลังบ้าน โดยปลูกพืชผักสวนครัว หรือหน่อไม้ ให้คุ้ยเขี่ยหากินเอง ทั้งนี้มูลไก่ไข่จะมีประโยชน์กับพืชที่ปลูกในสวน เป็นปุ๋ยชั้นดี ช่วยให้มีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ เป็นรายได้เสริมที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แถมบางครั้งพืชผลหรือผลไม้ที่ร่วงลงมาก็เป็นอาหารเสริมสำหรับไก่ไข่อีกค่ะ ข้อได้เปรียบของการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ที่มากกว่าการเลี้ยงในกรงตับ คือ ไก่ไข่อินทรีย์จะมีอายุการให้ไข่ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป แต่การเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับมีอายุของการให้ไข่ ไม่เกิน 1.5 ปี

อาหารไก่ไข่ลดต้นทุน


ปัญหาของเกษตกรที่เลี้ยงไก่ไข่ที่พบเจอบ่อย และหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านของอาหารไก่ไข่ที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ที่เกิดขึ้นรายวัน นับเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะได้กำไรมาก น้อย หรือขาดทุน เนื่องจากอาหารเป็นส่วนจำเป็นอย่างยิ่งของไก่ไข่ที่ต้องนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและนำไปผลิตไก่ไข่คุณภาพ หากเราสามารถที่จะลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้ จะช่วยให้ผู้เลี้ยงมีกำไรจากการเลี้ยงไก่ไข่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งง่ายต่อการจัดหาอีกด้วย เนื่องจากอาหารเหล่านี้สามารถหาได้ในท้องถิ่นเรา สูตรอาหารไก่ไข่ลดต้นทุน ที่ขอแนะนำ เป็นสูตรอาหารของคุณบุญล้อม เต้าแก้ว นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้ไก่ไข่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ลดกลิ่นเหม็นของมูลไก่ ไข่ไก่สีสวย ไข่แดงสดใส

วัตถุดิบ
- หยวกกล้วยหั่นละเอียด 20 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
- เกลือเม็ด 1/2 กิโลกรัม

ขั้นตอน
- ใส่ส่วนประกอบทั้ง 3 ลงไปในถังหมัก แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ปิดฝาถังหมัก เก็บไว้ที่ร่มประมาณ 7 วัน

อัตราส่วน
- ใช้ผสมกับหัวอาหาร โดยมีอัตราส่วนดังนี้ สูตรอาหารไก่ไข่ลดต้นทุน 1 กก. ต่อ หัวอาหารไก่ไข่ 10 กก. ต่อไก่ 30 ตัว ต่อวัน (นำไปให้ไก่ไข่กินวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น)

หรือใช้สูตรอาหารหมัก โดยใช้ส่วนประกอบดังนี้
-    หยวกกล้วยหั่นและทุบให้นิ่ม 30 กก.
-    ข้าวลีบ 10 กก.
-    รำละเอียด 10 กก.
-    ปลายข้าว 1.5 กก.
-    น้ำตาลทรายแดง 1 กก.
-    เกลือ 200 กรัม
-    ขี้วัวแห้งบดละเอียด 4 กก.
-    ดินแดงร่วน 2 กก.

วิธีทำ
-    เติมส่วนประกอบทั้งหมดลงไปในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน
-    เตรียมน้ำสะอาด 20 ลิตร แล้วเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ 40 ซีซี และกากน้ำตาล 40 ซีซี
-    ค่อยๆเทน้ำลงไปในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากันจนจับกันเป็นก้อน
-    ปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่ร่ม ทิ้งไว้ 7 วัน หลังจากนั้นสามารถนำไปให้ไก่ไข่กินได้ เช้า และเย็น ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารมากกว่าอาหารสำเร็จรูป 3 เท่า

การขยายพันธุ์ไก่ไข่


ในระหว่างการเลี้ยงแบบอินทรีย์นี้ อัตราส่วนที่เหมาะสม ปล่อยไก่ตัวผู้ 1 ตัว ต่อไก่ไข่ตัวเมีย 5 ตัว ทั้งนี้เพื่อการเพาะพันธุ์ลูกไก่ไข่ โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อไก่ไข่สาวมาเลี้ยง ที่ราคาค่อนข้างแพง การขยายพันธุ์เองนี้ นอกจากจะประหยัดค่าไก่ไข่แล้วยัง สามารถให้เรารู้ถึงรุ่นไก่ไข่ในแต่ละรุ่น

สมุนไพรไก่ไข่ ป้องกันและรักษาโรค



ฟ้าทะลาย สมุนไพร ที่เหมาะสำหรับป้องกันและรักษาโรคต่างๆของไก่ไข่ โดยส่วนใหญ่แล้วโรคที่เกิดขึ้นกับไก่ จะมีอยู่ 2 ช่วงคือ
ปลายฝนต้นหนาว
•    สับฟ้าทะลายโจรให้ละเอียด แล้วตากให้แห้ง นำไปบด สามารถผสมกับอาหารไก่ให้กิน
•    หรือสามารถนำฟ้าทะลายโจรสดๆ ให้ไก่กินได้เลย
ช่วงใกล้เข้าฤดูร้อน
•    ช่วงนี้โรคไข้หวัดนกมักระบาด ให้นำฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ต้นโทงเทง และหนุมานประสานกาย อย่างล่ะ 1 กก. สับพอประมาณ เทใส่ถังหมัก
•    ใช้น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 1 กก. น้ำเปล่า 5 ลิตร เทลงไปในถังหมักด้วย หมักไว้ 10-15 วัน
•    สามารถนำมาผสมกับน้ำให้ไก่กินได้, หรือถ้าไก่ไข่ป่วยหรือซึม หน้าซีด ไม่ต้องผสม ให้กินได้เลย

แผนการเลี้ยงไก่ไข่แบบประหยัด พอเพียง แนวอินทรีย์


หากเราจะเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์อย่างจริงจัง ให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแล้วล่ะก็ ควรจะมีการวางแผนที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงหรือก่อนเลี้ยงไก่ไข่ โดยเริ่มต้นเลี้ยงที่จำนวนน้อยๆสัก 10-20 ตัว แล้วค่อยเพิ่มจำนวน เราจะได้ใกล้ชิด และสังเกตุพฤกติกรรมของไก่ไข่ รวมถึงอาหารการกิน และโรคที่เกิดขึ้นกับไก่ไข่ ในระหว่างการฝึกหัดเลี้ยงนั้น ควรจัดสถานที่เพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ไว้เอง (เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง โดยไก่ไข่ 1 ตัว / ตารางเมตร) เช่น กล้วย ข้าว ผักสวนครัวจำพวกกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ข่า ตะไคร้ พริก มะละกอ ตำลึง กระถิน สำหรับเป็นอาหารหลัก อาหารเสริมของไก่ไข่ ส่วนฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ต้นโทงเทง หนุมานประสานกาย เป็นสมุนไพรสำหรับไก่ไข่ ให้ไก่ทนทานต่อโรคและรักษาโรคต่างๆ จัดสัดส่วนของพื้นที่ให้เหมาะสม และที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำเพิ่มคือ การปลูกกล้วยน้ำว้า และหน่อไม้ เพื่อจัดเป็นแหล่งคุ้ยเขี่ยหากินแมลงและปลวกของไก่ไข่ ตามธรรมชาติ การเลี้ยงแบบนี้จะช่วยให้ไก่ไข่อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง อายุยืน และจะช่วยให้เรามีรายได่ต่อที่สอง คือสามารถนำกล้วย และหน่อไม้ไปขายได้อีกทางหนึ่ง

หมายเหตุ
เราสามารถหาซื้อไก่ไข่ที่ปลดระวางจากฟาร์มที่เลี้ยงแบบกรงตับแล้ว มาเลี้ยงปล่อยแบบอินทรีย์ได้ ในราคาถูก ไม่เกิน 80 บาท แต่แนะนำให้แยกเลี้ยงจากฝูงเดิมที่เรามี เพื่อให้ไก่ได้คุ้นเคยกับสถานที่และป้องกันโรคติดต่อจากฟาร์ม รอให้ไก่ไข่ปรับตัวได้ปรกติ จึงค่อยนำมารวมกับฝูง อาจใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์


เครดิต สูตรอาหารไก่ไข่: คุณบุญล้อม เต้าแก้ว

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

ร้านขายกรงเลี้ยงไก่ไข่ กรงตับไก่ไข่ ราคาถูก

ร้านขายกรงเลี้ยงไก่ไข่ กรงตับไก่ไข่ ราคาถูก

กรงตับเลี้ยงไก่ไข่
อุปกรณ์ฟาร์มไก่ ที่ควรจะมีในการเลี้ยงไก่ไข่ นั่นก็คือ กรงตับเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อความง่ายและสะดวกในการเก็บไข่ การให้น้ำและอาหาร รวมถึงการดูแลไก่ไข่ที่ทั่วถึง ดังนั้นการเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ จึงเหมาะสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีโรงเรือนขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ได้ดีกับโรงเรือนอีแวปไก่ อุปกรณ์เลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ มีให้เลือกหลากหลายแบบและขนาด ที่นี่เว็บของเราเป็นแหล่งรับออกแบบกรงตับสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ รับผลิตกรงตับไก่ไข่ตาม ออเดอร์ของลูกค้า สินค้ามีความแข็งแรง ทนทาน มีทั้งแบบชุป และไม่ชุป EDP สามารถติดตั้งให้เข้ากับกรงตับของบริษัทอื่นๆ ในโรงเรือนได้อย่างง่ายดาย 



กรงตับไก่ไข่ 2-4 ชั้น ในโรงเรือนอีแวปไก่

สำหรับเกษตรกรรายเล็ก ก็สามารถหาเลือกซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง เป็นกรงตับสำหรับทดลองเลี้ยง หรือผู้ที่ต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สำหรับการลงทุนน้อย เช่น กรงตับเดี่ยว 3 ช่อง สำหรับไก่ไข่ 12 ตัวต่อกรง, กรงตับแฝด 6 ช่อง สำหรับไก่ไข่ 24 ตัวต่อกรง, กรงตับเดี่ยว 4 ช่อง สำหรับไก่ไข่ 8 ตัวต่อกรง และ กรงตับแฝด 8 ช่อง สำหรับไก่ไข่ 16 ตัวต่อกรง
ราคากรงตับไก่ไข่
กรงตับเดี่ยว 3 ช่อง สำหรับไก่ไข่ 12 ตัวต่อกรง

กรงตับไก่ไข่ ราคาถูก - เดี่ยว แฝด

หากสนใจราคากรงตับไก่ไข่ไม่แพง ที่นี่เป็นร้านขายกรงตับเลี้ยงไก่ไข่ ราคาถูก อีกทั้งรับออกแบบกรงตับไก่ไข่ในโรงเรือน Evap และเขียนแบบแปลนโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ในราคาย่อมเยาว์ ให้คุณได้ในราคาที่สามารถลงทุนได้ สบายกระเป๋ามากยิ่งขึ้น พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่และฟาร์มสุกร ระบบปิด การันตีด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

เลี้ยงไก่ไข่ ลงทุนเท่าไหร่ สำหรับฟาร์มไก่ไข่ขนาดเล็ก 100 ตัว - 500 ตัว



เลี้ยงไก่ไข่ ลงทุนเท่าไหร่ สำหรับฟาร์มไก่ไข่ขนาดเล็ก 100 ตัว - 500 ตัว

การเลี้ยงไก่ไข่ที่จำนวนตั้งแต่ 100 ตัว จนถึง 500 ตัว จะเป็นการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดเล็ก ถือได้ว่าจำนวนไม่มากมายนัก เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังฝึกหัด เริ่มต้นเรียนรู้ และต้องการศึกษาการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อจะได้เรียนรู้ประสบการณ์และเข้าใจในการเลี้ยงไก่ไข่มากขึ้น เมื่อเกิดความชำนาญแล้วจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตามงบประมาณที่จะขยับขยายต่อไป จนถึงเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดใหญ่

มาถึงคราวนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า การเลี้ยงไก่ไข่ที่จำนวนไก่ไข่สาว 100-500 ตัวจะต้องใช้เงินในการลงทุนเท่าไหร่ ในที่นี่ขอยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ไข่ที่จำนวน 500 ตัว แบบกรงตับ 2 ชั้นก่อนนะคะ ส่วนที่จำนวนอื่นๆ ราคาก็จะถูกลงกว่านี้ตามลำดับค่ะ


องค์ประกอบสำหรับการลงทุนเลี้ยงไก่ไข่

ขนาดและลักษณะโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่: สำหรับไก่ไข่ที่มีอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้เลี้ยง 5-6 ตัว ต่อพื้นที่  1 ตารางเมตร ดังนั้นที่จำนวนไก่ไข่สาว 500 ตัว จะต้องใช้โรงเรือนขนาด 6x14 = 84 ตร.. (โรงเรือนสูงตั้งแต่ 2.5 เมตรขึ้นไป เพื่อความโล่งและอากาศถ่ายเทสะดวก) หลังคาสำหรับกันแดดและฝนที่ทำมาจาก กระเบื้อง สังกะสี หรือใบจาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และอุปกรณ์ที่หาได้สะดวกในท้องถิ่นนั้นๆ ราคาประมาณ 35,000 บาท

ค่าอุปกรณ์เลี้ยงไก่: รวมทั้ง กรงตับ 2 ชั้น รางน้ำ รางอาหาร คิดเฉลี่ย 65 บาทต่อตัว ดังนั้น = 500 x 65 = 32,500 บาท

ราคาไก่ไข่พันธุ์สาว: ไก่ไข่สาว 16 สัปดาห์ ปัจจุบันราคาตัวละ 185 บาท คิดที่ 500 ตัว ประมาณ 92,500 บาท

ค่าอาหารไก่ไข่: ไก่สาวที่มีอายุ 16 สัปดาห์ ต้องการอาหารประมาณ 120 กรัมต่อตัวต่อวัน ดังนั้น 1 วันจะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร = 120g x 500 ตัว = 60,000 กรัม หรือ 60 กิโลกรัมๆละ 15 บาท ดังนั้นจะต้องจ่ายเงินค่าอาหาร = 60 กก. x 15 บาท = 900 บาท ต่อ 1 วัน

ไก่ไข่เลี้ยงกี่เดือน: ไก่ไข่สาวนี้ต้องเลี้ยงต่อไปอีก 2 สัปดาห์ถึงจะพร้อมออกไข่ ดังนั้น 14 วัน x 900 บาท = 12,600 บาท

**ต้นทุนในการเลี้ยงไก่ไข่ และรายจ่ายทั้งหมด รวม 35,000+32,500+92,500+12,600 = 172,600 บาท**

รายได้และกำไรจากการเลี้ยงไก่ไข่

ไก่ไข่ ไข่วันละกี่ฟอง: เมื่อไก่เริ่มไข่ก็จะทำให้เริ่มมีรายได้จากการขายไข่ไก่ 85% ของแม่ไก่ทั้งหมด ดังนั้นคิดจำนวนแม่ไก่ที่สามารถออกไข่ได้ = 500 x 0.85 = 425 ตัว ซึ่งไก่ไข่สามารถออกไข่วันละ 1 ฟอง แล้วขายราคาฟองล่ะ 3 บาท ดังนั้นคิดรายได้จากการขายไข่ = 425 ตัว x 3 บาท = 1,275 บาท/วัน

หากหักรายจ่ายค่าอาหารออก  1,275 - 900 = 375 บาท/วัน, ดังนั้นกำไรต่อเดือน = 11,250 บาท ก็ถือว่าพอใช้ได้สำหรับเป็นอาชีพเสริมค่ะ ถ้าประสบผลสำเร็จแบบนี้แล้ว แนวคิดทำโรงเรือนขนาดเดียวกันเพิ่มอีกสัก 1 โรงเรือน รวมทั้งหมด 1,000 ตัว ดังนั้นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน = 22,500 บาท พอเห็นมองเห็นตัวเลขคร่าวๆแล้วนะคะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ และตั้งใจดูแล เลี้ยงไก่ไข่ให้สมบูรณ์ เพื่อการออกไข่เป็นประจำ สม่ำเสมอ อีกทั้งมองหาหนทางลดต้นทุน ทางด้านอาหาร เนื่องจากจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นรายวัน ก็จะช่วยส่งเสริมให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้นค่ะ
สำหรับไก่ไข่ปลดระวาง จะเป็นไก่ไข่ที่ให้ไข่ติดต่อกันประมาณ 1 ปี (12 เดือน) ปรกติจะออกไข่ประมาณ 280 ฟอง/ปี สามารถสังเกตได้ง่ายคือจะให้ไข่น้อยกว่า 60% ของรุ่นหรือล็อตเดียวกัน สามารถมีรายได้จากการส่งขายเป็นไก่เนื้อได้ ดังนั้นควรหาไก่ไข่สาวมาทดแทนเพื่อผลผลิตที่ต่อเนื่องต่อไป ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ยังคงสามารถใช้งานได้ต่อไปเหมือนเดิม ไม่ต้องซื้อใหม่ และเช่นกันในส่วนของไก่ไข่สาวนี้ หากสามารถเพาะพันธุ์เองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้อีกเยอะค่ะ 

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ และ วิธีเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่



ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ และ วิธีเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่

ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่และโรงเรือน
การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดีอาชีพหนึ่ง เนื่องจากไก่สามารถฟักไข่ได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงขายได้เงินอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในประเทศไทยเราก็ยังนิยมบริโภคไข่ไก่ เพราะไข่ไก่จัดได้ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งสามารถรับประทานได้อย่างเรียบง่าย เช่นต้ม ทอด ตุ๋นไข่ และยังสามารถแปรรูปไปเป็นขนมและรูปแบบอาหารอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นธุรกิจการเลี้ยงไก่ไข่นี้ยังคงเจริญเติบโตได้ดีในตลาดบ้านเรา ดังคำขวัญที่ว่า "กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ" การเลี้ยงไก่ไข่จึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ความขยัน ความอดทน และการเอาใจใส่ในการเลี้ยงดู เว็บไซด์นี้จึงเป็นอีกแหล่งข้อมูล ในการทำธุกิจฟาร์มไก่ไข่ เพื่อเป็นความรู้ให้กับเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจ ได้ศึกษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

การวางแผนธุรกิจการเลี้ยงไก่ไข่และการทำฟาร์มไก่ไข่นั้น ปัจจัยหลักและสิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สำคัญ นั่นก็คือ ต้นทุนในการเลี้ยง ต้องพิจารณาถึงงบประมาณของเรา ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องมาคำนวนร่วมด้วย มีดังต่อไปนี้

1. ที่ดินหรือสถานที่สำหรับสร้างโรงเรือน: ในส่วนนี้แนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่ ควรเป็นเจ้าของที่ดินเอง เพื่อจะได้ไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้  เพราะหากไม่มีที่พื้นที่เป็นของตัวเองแล้วจะต้องเสียค่าเช่าซึ่งอาจจะเป็นรายปีหรือแบบอื่นๆ ตามตกลงกับเจ้าของที่ดิน

2. ค่าใช้จ่ายสำหรับสร้างโรงเรือน: ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนโดยประมาณ 200-300 บาทต่อตารางเมตร ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจเปลี่ยนแปลงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าขนส่งและราคาวัสดุในพื้นที่นั้นๆ โรงเรือนที่ดีสามารถใช้งานได้นานหลายปี ถ้าเกษตรกรมีเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด อาจสร้างโรงเรือนขนาดเล็ก ถึงกลางไปก่อน ราคาจะไม่สูงมาก ตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท แล้วค่อยไปขยับขยายภายหลังได้

3. ค่าอุปกรณ์เลี้ยงไก่ไข่: อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีในโรงเรือน เช่น อุปกรณ์การให้น้ำ ถังอาหาร รางอาหาร รังไข่ หากเกษตรกรที่สามารถจะสร้างอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ไป แต่ถ้ามีเงินทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์สำเร็จรูป เช่นกรงตับไก่ไข่ ก็ช่วยให้ง่ายและอำนวยความสะดวกได้เยอะทีเดียว อีกทั้งมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน

4. ต้นทุนพันธุ์ไก่ไข่: ราคาไก่สาว ที่พร้อมสำหรับออกไข่ อายุ 16 สัปดาห์ ปัจจุบันเฉลี่ยตัวละ 160-200 บาท หากจะเลี้ยงเพื่อให้เพียงพอสำหรับการขายไข่ไก่แนะนำให้เลี้ยง 200-300 ตัว งบประมาณในส่วนนี้ 32,000-60,000 บาท แต่ถ้างบน้อย ก็อาจเลือก 10-50 ตัว ก็ได้ค่ะ

5. ค่าอาหารไก่ไข่: แน่นอนส่วนนี้ ในแต่ละวัน ไก่ต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การอาหารเพื่อบำรุงในการออกไข่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียทุกๆวัน ทั้งนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ไข่และขนาดไก่ไข่ หากเป็นลูกไก่อาจจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ราคาไม่แพง เนื่องจากลูกไก่กินอาหารน้อยกว่าไก่รุ่นหรือไก่สาว แต่ต้องแลกกับระยะเวลานานถึง 22 สัปดาห์ ส่วนไก่ที่กำลังเริ่มฟักไข่จะต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น คิดเฉลี่ยสำหรับการซื้ออาหารสำเร็จรูป กิโลกรัมละ 5 บาท

6. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ: ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ายา ค่าขนส่ง

ลักษณะของโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ที่ดี

  • สามารถป้องกันอันตรายและศัตรูต่างๆ เช่น สุนัข แมว นก หนู งู ได้
  • สามารถป้องกันแดด ฝน ลม และสภาพอากาศโดยตรงจากภายนอก
  • โรงเรือนที่ทำความสะอาดได้ง่าย น้ำไม่ขัง ไม่รก
  • ควรสร้างอยู่ให้ห่างจากที่อยู่อาศัย ถ้าตั้งอยู่ใกล้แหล่งชมชนอาจมีกลิ่นของขี้ไก่ไปรบกวนเพื่อนบ้านได้
  • ราคาไม่แพง สร้างได้ง่าย และใช้วัสดุที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ
  • หากมีเนื้อที่เหลือเพียงพอ หากต้องการเพิ่มโรงเรือน ควรเว้นระยะให้อากาศระบายได้สะดวก แนะนำ 10 เมตรขึ้นไป


วิธีเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่

การเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ
การเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ: วิธีการเลี้ยงไก่ไข่แบบนี้ถือว่าได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากกรงตับมีข้อดีในส่วนของการประหยัดพื้นที่ กรงตับจะประกอบด้วย กรงตับ 2 ชั้น, กรงตับ 3 ชั้น สำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่จำกัด การเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับนี้เหมาะสมมาก 

การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยพื้น
การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยพื้น: เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่มีเงินทุนน้อย และผู้ที่กำลังทดลองเลี้ยง ถือได้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยลานเป็นการเลี้ยงไก่ไข่แบบประหยัด ไม่ต้องลงทุนสูง เกษตรกรมักจะปล่อยไก่ไข่หลังบ้าน หรือลานพื้น แต่ต้องใช้พื้นที่เลี้ยงค่อนข้างมาก เฉลี่ยแล้วไก่ไข่ 1 ตัว/ตร.. การเลี้ยงแบบนี้ถือเป็นการงานอดิเรกหรืออาชีพเสริม ส่วนมากจะเป็นพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์ไก่ไข่และพันธุ์พื้นเมือง จะสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี

การเลี้ยงไก่ไข่บนพื้นคอนกรีต

ฟาร์ม แกลบ: การเลี้ยงไก่แบบนี้จะใช้พื้นซีเมนต์ ที่ปูทับด้วยแกลบ โดยให้ความหนาวราว 5 เซนติเมตร โรงเรือนแบบนี้จะเหมาะมากสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 100-200 ตัว โดยจำนวนไก่ไข่ 4 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

การเลี้ยงไก่ไข่ บนบ่อปลาดุก และปลานิล

การเลี้ยงไก่ไข่ บนบ่อปลา: การเลี้ยงไก่ไข่แบบโรงเรือนยกพื้นนี้ เป็นการเลี้ยงแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะยกพื้นขึ้นเหนือพื้นน้ำ สูงประมาณ 1 เมตร ส่วนมากจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านล่างของโรงเรือน สำหรับทำบ่อเลี้ยงปลา ปลาที่นิยมเลี้ยงกันส่วนมากจะเป็นปลานิล ปลาดุก ถือได้ว่าเป็นอาชีพเสริม ที่สร้างรายได้ที่ดีเลย แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้นทุนในการก่อสร้างสูง และไก่มักจะจิกกัน อีกทั้งโรคอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นผู้เลี้ยงควรควบคุมเรื่องโรคให้ดี

การเลี้ยงไก่ไข่ในเล้า ขนาดเล็ก
การเลี้ยงไก่ไข่ในเล้า ขนาดเล็ก: เป็นการลงทุนที่ใช้เงินค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีทุนน้อย และผู้ที่กำลังศึกษาทดลองเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โดยอาจสร้างโรงเรือนขนาดเล็กๆ ทำหลังคาแบบง่ายๆเพียงแค่กันแดดกันฝน พื้นอาจใช้ไม่ไผ่หรือไม้ระแนง รางน้ำและรางอาหาร ที่ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าครึ่ง พื้นที่ 1 ตรารางเมตร สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 5 ตัว แต่การเลี้ยงแบบนี้ต้องหมั่นคอยดูแลไม่ให้ไล่จิกกัน 

การเลี้ยงไก่ไข่แบบกึ่งขังกึ่งปล่อย
การเลี้ยงไก่ไข่แบบกึ่งขังกึ่งปล่อย: จากการศึกษา การเลี้ยงแบบนี้ช่วยให้ไก่อารมณ์ดี ไม่เครียด ไก่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคได้ดี ออกไข่ดก พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงจะมีอาณาเขตกว้าง มีรั้วหรือคอกล้อมรอบพื้นที่ดังกล่าวไว้ และภายในรั้วนี้จะมีรังหรือคอนให้ไก่นอน การเลี้ยงแบบนี้นิยมโปรยอาหารให้ไก่กิน จะเพิ่มเติมแค่รางน้ำ สำหรับไว้ให้กินตลอดเวลา รางน้ำอาจทำง่ายๆด้วยไม้ไผ่ เป็นรูปแบบที่ผสมผสานใช้ได้กับไก่พันธุ์พื้นเมืองและไก่ลูกผสม ข้อดีของการเลี้ยงแบบนี้ช่วยให้ผู้เลี้ยงดูแลไก่ได้ทั่วถึง และการทำรังไข่จะช่วยให้แม่ไก่ ไข่เป็นที่เป็นทาง จัดเก็บได้ง่าย

การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์: จะให้อาหารวันละ 2 เวลา คือ เช้าและเย็น ส่วนกลางวันเป็นการปล่อยเลี้ยงให้คุ้ยเขี่ยหากินเองตามธรรมชาติ เช่นกินปลวก มด แมลงที่อาศัยอยู่ในกอไผ่ และดงป่าในสวน ส่วนมากจะนิยมเลี้ยงในดงไผ่ อีกทั้งมีรายได้เสริมจากการขายหน่อไม้ได้ด้วย และมูลไก่ก็เป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับต้นไผ่ ข้อโดดเด่นของการเลี้ยงแบบอินทรีย์นี้คือ ไข่ไก่จะมีความสดใหม่ ไม่มีน้ำเหลวปนมา มีมอนสีแดงจับเป็นก้อนสีเข้มกว่าไข่ไก่ตามท้องตลาดทั่วๆไป แล้วจะมีเปลือกที่หนากว่า เมื่อนำมาทอดจะหอม ไม่มีกลิ่นคาว ผลผลิตไข่ที่ได้จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มที่รักสุขภาพ และผู้สูงอายุ

การเลือกโรงเรือนที่ดี การเลี้ยงไก่ไข่ ก็จะทำให้ได้ผลผลิตไข่สูง รายได้ดี เสริมสร้างอาชีพให้มั่นคง

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ และโรงเรือนสุกร



โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่



สวัสดีค่ะ เว็บโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่นำเสนอเกี่ยวกับบล็อกความรู้ในการทำธุรกิจฟาร์มไก่ไข่และจำหน่ายอุปกรณ์เลี้ยงไก่ไข่ ตลอดรวมไปจนถึงขายอุปกรณ์ฟาร์มสุกร ด้วยประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 20 ปี และเราให้ท่านด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งคุณภาพในด้านการบริการ สินค้าของเรามีให้เลือกสรรมากมาย เช่น กรงตับไก่ไข่ ทั้งแฝดและเดี่ยว กรงตับสำหรับทดลองเลี้ยง กรงตับ 2 ชั้น กรงตับหมู อุปกรณ์ให้อาหาร นิปเปิ้ลให้น้ำไก่ พัดลมโรงเรือน เครื่องกวาดมูลไก่ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำ การทำธุรกิจฟาร์มไข่ไก่ Farm Evap การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่และโรงเรือนสุกร ตั้งแต่ราคาประหยัดไปจนถึงแบบครบวงจร ในราคาที่คุณสามารถเลือกเป็นเจ้าของได้


กรงตับ 2 ชั้น
กรงตับ 3 ชั้น

พัดลมโรงเรือนขนาด 50 นิ้ว

พัดลม 50 นิ้ว ติดกรวย


ชุดลำเลียงมูลไก่และเครื่องกวาดมูลไก่



ระบบให้อาหารสุกรอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังรับออกแบบ ผลิตกรงตับตามตัวอย่าง ชิ้นส่วนแผงกรงตับ ระบบให้อาหารอัตโนมัติ รางอาหาร สายพานลำเลียงไข่ไก่ Conveyor ลำเลียงไข่และมูลไก่ เครื่องกวาดมูลไก่ ฯลฯ บริการซ่อมและปรับปรุงโรงเรือนในราคาที่ถูกค่ะ